"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ "กษัตริย์นักบินของปวงชนชาวไทย" พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยด้านวิศวกรรมการบินและอากาศยานตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ทรงเริ่มทำการบินตามหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ของโรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๒ พระองค์เริ่มทำการบินเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1H และแบบ UH-1N และหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ (Gunship)ของกองทัพบก
ต่อมาทรงเข้ารับการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1H ของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา และทรงศึกษาฝึกเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงแบบ F5 E/F และทรงเข้ารับการฝึกบินในหลักสูตรการบินรบชั้นสูง (Advance Fighter Course) กับเครื่อง F5 D/F จนสำเร็จหลักสูตรด้วยชั่วโมงบินรวมทุกประเภทกว่า ๑,๐๐๐ ชั่วโมง
จากนั้นทรงศึกษาการบินแบบใหม่เพิ่มเติมสม่ำเสมอจากโรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ และทรงฝึกบินเครื่องบินไอพ่นแบบ T37 T33 และจบหลักสูตรนักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูง กับเครื่องบินขับไล่แบบ F5 E/F ของกองบิน๑ ฝูงบิน ๑๐๒ รวมชั่วโมงบินกว่า ๒๐๐ ชั่วโมง ทรงเป็น "เจ้าฟ้านักบินขับไล่ไอพ่น" พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีที่ทำการบินเครื่องบินกองทัพอากาศเกือบทุกรูปแบบ
กรมฝนหลวงเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีอากาศยานและนักบินจำนวนมาก เนื่องจากการปฏิบัติการฝนหลวงนั้นพาหนะที่สำคัญที่จะนำทีมงานขึ้นไปทำฝนนั้นได้แก่อากาศยาน ซึ่งปัจจุบันมีอากาศยานจำนวน ๔ แบบ ได้แก่
Super King Air 350 (SKA 350) จำนวน ๓ ลำ
Casa model CN235-200 จำนวน ๒ ลำ
Casa Model C212/NC212i จำนวน ๑๔ ลำ
Grand Caravan/Caravan(Cessna C208 จำนวน ๑๑ ลำ
การปฏิบัติการบินฝนหลวงเป็นการบินภายใต้เงื่อนไขสภาพอากาศต่างๆ ซึ่งนักบินจะต้องมีความรู้ความชำนาญ และประสบการณ์ในการบินเป็นอย่างดี นักบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตรทุกนาย จึงได้น้อมนำแนวทางปฏิบัติในการเป็นนักบินของ"กษัตริย์นักบิน" มายึดถือปฏิบัติ โดยหมั่นศึกษาความรู้เพิ่มเติม และฝึกปฏิบัติให้เชี่ยวชาญตามหลักนิรภัยการบิน เพื่อให้การปฏิบัติงานในภารกิจฝนหลวงเกิดสัมฤทธิ์ผลและมีสวัสดิภาพในทุกเที่ยวบิน